*ปัจจุบันข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ สถาบันพระปกเกล้าตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลอย่างยิ่ง ดังนั้นเพื่อให้ท่านได้รับความปลอดภัยสูงสุดจากการใช้บริการเว็บไซต์รับสมัครออนไลน์ของสถาบันพระปกเกล้า ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านจะถูกเก็บรักษาและป้องกันการนำข้อมูลส่วนบุคคล ของท่านไปใช้โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริตอย่างเข้มงวด
*ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน สถาบันพระปกเกล้าจะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานของสถาบันพระปกเกล้าเท่านั้น
รายละเอียดหลักสูตร
ข้อมูลผู้สมัคร
ยืนยันลงทะเบียน
พิมพ์ใบสมัคร
หลักการและเหตุผล
นับตั้งแต่มีการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจสู่การปกครองท้องถิ่นตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างก็ได้รับมอบหมายภารกิจหน้าที่และทรัพยากรเพิ่มขึ้น ด้วยความหวังว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นองค์กรหลักในการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน และที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งได้พิสูจน์ให้สังคมรับทราบอย่างชัดเจนว่าพวกเขาเหล่านั้นสามารถเป็นที่พึงให้แก่ประชาชนได้ดีพอสมควร
อย่างไรก็ดี เมื่อระบบเศรษฐกิจโลกเกิดความผันผวนและไม่แน่นอนอยู่บ่อยครั้ง ระบบเศรษฐกิจไทยย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงถึงผลกระทบดังกล่าวได้ ทั้งนี้เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยมีระบบการผลิตและการบริโภคที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ความผันผวนดังกล่าวย่อมส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศและฐานรายได้ของรัฐ (tax bases) เกิดความไม่แน่นอน อีกทั้งผู้บริหารหน่วยงานของรัฐย่อมไม่อาจคาดหวังถึงการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของทรัพยากรทางการเงินการคลังได้อีกต่อไป
ฉันใดก็ฉันนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันต่างก็ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งในต่างประเทศและภายในประเทศเช่นกัน สภาวะของความตึงตัวทางการเงินการคลัง (fiscal stress) ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องค้นหาแนวนโยบายใหม่ๆ ในการพัฒนาท้องถิ่นโดยที่ยังคงใช้ทรัพยากรทางการเงินการคลังที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างยั่งยืน ในขณะที่ยังคงเกื้อหนุน ต่อหลักความโปร่งใสตรวจสอบได้ (democratic accountability) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ดังนั้น หลักสูตรการบริหารการเงินการคลังเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น จึงต้องการนำเสนอหลักการ แนวคิด และประสบการณ์ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยการประยุกต์ใช้หลักคิดและเทคนิควิธีการบริหารการเงินการคลังเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น และมุ่งหวังให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ารับการอบรมสามารถกำหนดนโยบายและ/หรือทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนสืบต่อไป