*ปัจจุบันข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ สถาบันพระปกเกล้าตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลอย่างยิ่ง ดังนั้นเพื่อให้ท่านได้รับความปลอดภัยสูงสุดจากการใช้บริการเว็บไซต์รับสมัครออนไลน์ของสถาบันพระปกเกล้า ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านจะถูกเก็บรักษาและป้องกันการนำข้อมูลส่วนบุคคล ของท่านไปใช้โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริตอย่างเข้มงวด
*ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน สถาบันพระปกเกล้าจะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานของสถาบันพระปกเกล้าเท่านั้น
รายละเอียดหลักสูตร
ข้อมูลผู้สมัคร
ยืนยันลงทะเบียน
พิมพ์ใบสมัคร
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานภาครัฐถือว่ามีความจำเป็นและเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการบริหารงานภาครัฐ เนื่องจากบริบทของการบริหารภาครัฐ มีการเปลี่ยนแปลงหลากหลายประการ ทั้งจากบริบทของนานาชาติ และกรอบการเมืองและการบริหารของประเทศ
ในระดับนานาชาติ มีการกำหนดวาระที่ชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารภาครัฐแบบมีส่วนร่วมและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ในขณะที่ในระดับประเทศ วาระเรื่องการให้ประชาชนเข้ามาร่วมในทางการเมืองการปกครองโดยตรง เริ่มมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สะท้อนให้เห็นว่าความคิดทางการเมือง ได้เปลี่ยนแปลงไป จากแต่เดิม ที่ให้ความสำคัญแก่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม กล่าวคือ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงทั้งทางการเมืองการปกครองโดยอาศัยช่องทางทางการบริหารและนิติบัญญัติ อาทิ เช่น สิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งการมีบทบัญญัติให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายและจัดบริการสาธารณะ ประเมินผล ครอบคลุมไปถึงการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ
ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงข้างต้น ทำให้การพัฒนาระบบราชการในช่วงที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานภาครัฐ อาทิ เช่น มาตรา3/1ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบราชการฉบับปัจจุบัน
ด้วยเหตุดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรภาครัฐทั้งราชการส่วนกลาง ภูมิภาคท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐรูปแบบอื่นๆ ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ พัฒนาความรู้ความเข้าใจรวมทั้งพัฒนาสมรรถนะใหม่ๆที่จำเป็นต่อการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานภาครัฐอย่างสอดคล้องกับการพัฒนาสังคมประชาธิปไตยทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มบุคลากรที่มีอำนาจและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายสาธารณะและการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ดังนั้นหากผู้บริหารมิได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของการมีส่วนร่วมของประชาชน เข้าใจกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้ง
การนำผลของการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจอย่างแท้จริง การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีความหมายคงเกิดขึ้นได้ยาก กอปรกับการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อน บางครั้งต้องใช้ทรัพยากรทางการบริหาร งบประมาณและเวลา ผู้บริหารจะต้องทราบ สนับสนุนและมีสมรรถนะในการกำหนดนโยบายอย่างชัดเจนและเจาะจงด้วยตนเองเนื่องจากในหลายกรณี ผู้บริหารมักจะถูกเรียกร้องจากประชาชนขอให้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าร่วมเพื่อให้ผลจากการมีส่วนร่วม มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย ดังนั้น การสนับสนุนนโยบายแต่เพียงกว้างๆ ของผู้บริหารจึงไม่เพียงพอสำหรับการสนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อีกต่อไป อีกทั้งยังต้องสามารถกำกับและแนะนำเจ้าหน้าที่ระดับผู้ปฏิบัติได้อีกด้วย
จากฐานคิดที่ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาวิถีและวัฒนธรรมประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้าจึงถือเป็นภารกิจร่วมกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในการจัดให้มีหลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับผู้บริหาร เพื่อเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับการบริหารงานภาครัฐ ตลอดจนชุมชนและสังคมโดยรวมอย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมาข้างต้น