*ปัจจุบันข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ สถาบันพระปกเกล้าตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลอย่างยิ่ง ดังนั้นเพื่อให้ท่านได้รับความปลอดภัยสูงสุดจากการใช้บริการเว็บไซต์รับสมัครออนไลน์ของสถาบันพระปกเกล้า ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านจะถูกเก็บรักษาและป้องกันการนำข้อมูลส่วนบุคคล ของท่านไปใช้โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริตอย่างเข้มงวด
*ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน สถาบันพระปกเกล้าจะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานของสถาบันพระปกเกล้าเท่านั้น
รายละเอียดหลักสูตร
ข้อมูลผู้สมัคร
ยืนยันลงทะเบียน
พิมพ์ใบสมัคร
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานภาครัฐถือว่ามีความจำเป็นและเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากบริบทของการบริหารภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงหลากหลายประการ ทั้งจากบริบทของนานาชาติ และกรอบการเมืองและการบริหารของประเทศ ดังเห็นได้จากระดับนานาชาติที่มีวาระชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารภาครัฐแบบมีส่วนร่วมและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ในขณะที่ระดับประเทศ วาระเรื่องการให้ประชาชนเข้ามาร่วมในทางการเมืองการบริหารโดยตรงเริ่มมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และต่อเนื่องถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความคิดทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปจากการให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยแบบเป็นตัวแทนสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมโดยตรงทั้งทางการเมืองและการบริหาร อาทิ เช่น สิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งการมีบทบัญญัติให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารรวมทั้งการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบาย ในการร่วมจัดบริการสาธารณะ ประเมินผล และในการตรวจสอบ การปฏิรูประบบราชการในช่วงที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชานในการบริหารงานภาครัฐ อาทิ เช่น มาตรา 3/1ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 รวมทั้งยุทธศาสตร์พัฒนาระบบราชการฉบับปัจจุบัน
ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมา จึงสะท้อนถึงความจำเป็นที่บุคลากรภาครัฐทั้งราชการส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐในรูปแบบอื่นๆ ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งพัฒนาสมรรถนะและทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานภาครัฐ เพื่อสอดคล้องกับการพัฒนาสังคมประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรระดับปฏิบัติ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้ดำเนินการในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกเทคนิควิธีการ และการกำหนดใคร เมื่อใด และอย่างไรในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งหากขาดความรู้ ความเข้าใจ และสมรรถนะที่จำเป็น การมีส่วนร่วมของ
ประชาชนก็มิอาจประสบผลเป็นที่น่าพึงพอใจได้ ในแนวคิดการบริหารจึงให้ความสำคัญกับบุคลากรระดับปฏิบัติ (Street-level bureaucracy) นอกจากนั้น ในหลายกรณีพบว่าการขับเคลื่อนนโยบายไม่ประสบความสำเร็จ เพราะบุคลากรระดับปฏิบัติไม่ตระหนักถึงความสำคัญ ไม่เห็นพ้อง ร่วมใจ รวมทั้งไม่มีความรู้ความสามารถที่เพียงพอ ดังนั้น ในการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชนไปสู่การปฏิบัติและเกิดผลที่น่าพึงพอใจจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรระดับปฏิบัติงานมากขึ้น
ด้วยความสำคัญดังกล่าวของกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ประกอบกับสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนาประชาธิปไตย เห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงร่วมกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดให้มีหลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นฐานคิดในการกำหนดแนวทางและดำเนินงานสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในหน่วยงานต้นสังกัด อันจะนำไปสู่การเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับภาครัฐ ตลอดจนชุมชนและสังคมโดยรวมต่อไป